วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

แนวทางการปฏิบัติของ พงส. กรณีศพนิรนาม

กรณีศพนิรนาม

            การปฏิบัติของพนักงานสอบสวน
            1.  การชันสูตรพลิกศพ
                 -  แจ้งกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง หรือกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ที่รับผิดชอบ แล้วแต่กรณีทราบ เพื่อร่วมกับพนักงานสอบสวนไปทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพศพ ตรวจเก็บร่องรอยวัตถุพยานต่าง ๆ พร้อมทั้งถ่ายภาพไว้ การถ่ายภาพศพต้องให้ได้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นตำหนิรูปพรรณพิเศษ เช่น รอยสัก แผลเป็นหรือความพิการต่าง ๆ
                 -  ประสานแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ เพื่อจะเก็บตัวอย่างเลือด หรือสารคัดหลั่ง หรือสิ่งที่จะใช้ตรวจสารพันธุกรรม (DNA) จากศพที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ส่งไปยังศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เวชวิทยา ทุกราย โดยระบุไว้หน้ากล่องพัสดุไปรษณีย์ว่า "ตัวอย่างดีเอ็นเอ"
                 -  จดตำหนิรูปพรรณศพ และบันทึกทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย พร้อมภาพถ่ายศพ ส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อบันทึกข้อมูลและออกประกาศ
                 -  ถ่ายภาพเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย และเก็บรักษาทรัพย์สิน โดยให้นำระเบียบการเก็บรักษาของกลางมาใช้โดยอนุโลม เพื่อมอบแก่ทายาทหรือญาติผู้ตาย
            2.  การจัดทำแบบรายงานที่เกี่ยวข้องกับศพนิรนาม มีดังนี้
                 -  แบบข้อมูลรับแจ้งเหตุนิรนาม (ศบคน-3)
                 -  แบบรายงานการพิสูจน์ทราบบุคคล (ศบคน-4)
                 -  แบบรายงานพบศพไม่ทราบชื่อ (วท.13-ต.327)
            3.  การจัดส่งแบบรายงาน
                 -  เมื่อมีผู้มาแจ้งความพบศพนิรนาม หรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ ที่ทำให้เชื่อหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลเสียชีวิตโดยไม่สามารถระบุได้ว่าศพหรือชิ้นส่วนอวัยวะเป็นผู้ใด ให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดส่งแบบรายงานข้อมูลการรับแจ้งศพนิรนาม (ศบคน-3) มายังผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร/เลขานุการศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่ได้รับแจ้ง ต่อมาภายหลังหากสามารถระบุได้ว่าผู้ตายเป็นใครแล้วให้รายงานเพิ่มเติมตามแบบรายงานการพิสูจน์ทราบบุคคล (ศบคน-4) ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันที่ทราบชื่อ
                 -  นอกเหนือจากการรายงานข้อมูลรับแจ้งคนหายดังกล่าวแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม/เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม ทราบอีกส่วนหนึ่งด้วย
                 -  ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ 10 นิ้วของผู้ตาย จำนวน 3 ฉบับ ติดสำนวนการสอบสวน และสำเนาสำนวนการสอบสวน 2 ฉบับ แล้วส่งไปตรวจสอบยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร 1 ฉบับ โดยให้จัดส่งในวันที่พิมพ์ลายนิ้วมือหรือในวันรุ่งขึ้น

การจัดการศพ
             หลังจากที่ได้มีการพิสูจน์ศพแล้ว พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการ ดังนี้
              1. กรณีเป็นศพที่พิสูจน์ทราบว่าผู้ตายเป็นใครแล้ว ถ้ามีทายาท ญาติ หรือผู้มีสิทธิ มาติดต่อขอรับศพไปจัดการตามประเพณี ก็ให้พนักงานสอบสวนมอบศพให้ทายาท ญาติ หรือผู้มีสิทธิ หลังจากที่ได้มีการ ตรวจสอบความสัมพันธ์เกี่ยวข้องจนแน่ชัดแล้ว ให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและลงนามร่วมกัน
              2. กรณีเป็นศพที่ไม่มีทายาท ญาติ หรือผู้มีสิทธิ มาติดต่อขอรับศพ หรือเป็นศพที่ยังไม่ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร เมื่อรักษาศพไว้ ณ สถานที่ชันสูตรศพอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วัน แล้วให้แจ้งเทศบาลท้องถิ่น สมาคม หรือมูลนิธิเพื่อการนี้ รับศพไปจัดการเก็บที่สุสานและให้ดำเนินการดังนี้
                  -  ให้จัดทำสมุดทะเบียนส่งศพฝังโดยมีรายละเอียดตามแบบแนบท้ายหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0011.22 / 3933 ลง 7 ตุลาคม 2554
                  -  ประสานเทศบาล ท้องถิ่น สมาคมหรือมูลนิธิเพื่อการนี้ กำหนดหมายเลขหลุมฝังศพ
                  -  จัดทำแผ่นป้ายชื่อศพ ถ้าศพยังไม่มีชื่อหรือยังไม่ทราบชื่อก็ให้เขียนว่าศพ "ชาย" หรือ "หญิง" เท่าที่จะทำได้ วันที่ส่ง หมายเลขหลุมฝังศพ เหตุตาย โดยติดไว้ที่ด้านหน้าของหลุมศพแล้วถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน
                  -  ให้ผู้เกี่ยวข้องจัดการห่อศพให้เรียบร้อย พร้อมทั้งจัดทำป้ายชื่อศพ (ถ้าศพยังไม่มีชื่อหรือยังไม่ทราบชื่อให้เขียนว่าศพ "ชาย" หรือ "หญิง" เท่าที่จะทำได้) หมายเลขศพติดไว้บนผ้าห่อศพและตัวศพ จากนั้นจึงส่งมอบศพไปเก็บยังสุสาน
                  -  เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบว่าผู้ตายเป็นใครแล้ว ให้แจ้งกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทราบ พร้อมแนบสำเนาใบมรณบัตรเพื่อถอนประกาศสืบหา
              3. พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องรีบดำเนินการสืบสวนให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร รวมทั้งให้มีความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์บริการบริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม เมื่อได้รับการประสานโดยเฉพาะข้อมูลศพไม่ทราบชื่อ และการคืนศพให้แก่ญาติที่มาขอรับศพไปจัดการตามประเพณีซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบย้ายไปอยู่สังกัดอื่นหรือไม่สามารถติดต่อได้ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าพนักงานสอบสวนในการดำเนินการแทน

              (ที่มา : ผนวก จ. แนวทางการปฏิบัติประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 725/2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558)