วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี กรณีคนหายพลัดหลง

                                             การดำเนินการเกี่ยวกับคนหายพลัดหลงและได้คืน

              วิธีดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับคนหายพลัดหลงให้ปฏิบัติดังนี้
              ข้อ ๔๐๕  เมื่อมีผู้มาแจ้งความเกี่ยวกับคนหายพลัดหลง ให้ผู้มีหน้าที่รับแจ้งรีบดำเนินการรับแจ้งลงไปรายงานประจำวัน หรือบันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐาน แล้วจัดการกรอกข้อความลงในรายงานตำหนิรูปพรรณคนหายทันที ตามแบบ วท.๑๒/๑-ต.๓๒๖ ท้ายระเบียบนี้ พร้อมกับให้ซักถามสาเหตุแห่งการหายจากผู้แจ้งให้ได้ความละเอียดชัดเจน แล้วจัดการต่อไปนี้
              ก.  หน่วยงานที่มีหน้าที่รับแจ้งภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้รีบติดต่อแจ้งเรื่องราวของคนหายพลัดหลงไปยังกองกำกับการรถวิทยุ และศูนย์รวมข่าว และกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรีเพื่อดำเนินการติดตามค้นหา แล้วให้ออกรายงานตำหนิรูปพรรณคนหายนี้ จำนวน ๒ ฉบับ เก็บรวมเรื่องเข้าเล่มไว้ ณ รับแจ้ง ๑ ฉบับ ส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากร ๑ ฉบับ
              ข.  หน่วยงานที่มีหน้าที่รับแจ้งในเขตจังหวัดอื่น ให้ออกรายงานนี้ ๔ ฉบับ เก็บรวมเรื่องไว้ ณ ที่แจ้ง ๑ ฉบับ ส่งวิทยาการจังหวัด ๑ ฉบับ กองกำกับการตำรวจวิทยาการ เขต ๑ ฉบับ และกองทะเบียนประวัติอาชญากร ๑ ฉบับ
            ค.  การส่งรายงานตำหนิรูปพรรณคนหาย ให้จัดการส่งไปทันที พร้อมด้วยรูปถ่าย (ถ้ามี) ให้พนักงานสอบสวนหรือผู้รับแจ้งลงชื่อรับรองไว้หลังรูปถ่าย และบันทึกว่าถ่ายเมื่อ วัน เดือน ปีใด และให้แนะนำกับผู้แจ้งด้วยว่า ถ้าได้ตัวคนหายคืนมาแล้วให้รีบแจ้งถอนที่สถานีตำรวจที่ใกล้เคียงเพื่อแจ้งกองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบและปฏิบัติตามระเบียบต่อไป
            ข้อ ๔๐๖  ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าคนหายหลัดหลงนั้นถูกล่อลวง ลักพาไป ให้รีบจัดตำรวจออกติดตามตลอดจนดำเนินการใช้เครื่องมือสื่อสารติดต่อกับตำรวจท้องที่ ตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ สกัดค้นตามด่านใกล้เคียง หรือสกัดที่เป็นปลายทางที่ยานพาหนะจะผ่านไปโดยด่วน
             ถ้าการสอบสวนรับแจ้งนั้นมีเหตุอันควรสงสัย หรือเชื่อมั่นว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง นอกจากดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ทำการสอบสวนมูลกรณีโดยละเอียด และรายงานด่วนเป็นหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๒ ชุด เพื่อพิจารณาสั่งการให้ตำรวจสันติบาลดำเนินการสืบสวนสอบสวนติดตามเป็นพิเศษต่อไป ในการดำเนินการสอบสวนจะติดต่อผู้บังคับการตำรวจสันติบาลไปร่วมการสอบสวน หรือส่งตัวผู้แจ้งไปให้ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลสอบสวน แล้วแต่กรณี และเฉพาะรายก็ได้ เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้รายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบอีกครั้งหนึ่ง
             ข้อ ๔๐๗  ถ้าผู้แจ้งสงสัยว่าคนหายจะถูกทำร้ายถึงตาย หรือตายด้วยเหตุอื่น ๆ ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้แจ้งไปดูรูปถ่ายตำหนิรูปพรรณของคนตายไม่ทราบชื่อที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร กองกำกับการตำรวจวิทยาการเขต หรือวิทยาการจังหวัด แล้วแต่กรณี
             ข้อ ๔๐๘  ให้สารวัตรใหญ่ สารวัตร ผู้บังคับกอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ สั่งมอบหมายตำรวจสถานีคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบสืบสวนติดตามหาตัวคนหาย โดยให้ไปรู้จักกับบ้านผู้แจ้งหรือผู้ปกครองคนหายและหมั่นไปติดต่อเยี่ยมเยียนเป็นระยะ ๆ ทุก ๗ วัน  ๑๕ วัน  ๑ เดือน  ๒ เดือน และ ๓ เดือน เมื่อครบกำหนด ๓ เดือนแล้ว หากยังไม่ทราบหรือได้ตัวคนหายคืน ให้สารวัตรใหญ่ สารวัตร ผู้บังคับกอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ รายงานผลแห่งการไปติดต่อเยี่ยมเยือนตามแบบ วท.๑๒/๓-ต. ท้ายระเบียบนี้ ไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำหรับส่วนภูมิภาคนั้น ให้รายงานไปยังกองกำกับการตรวจวิทยาการเขต และวิทยาการจังหวัดอีกด้วย เมื่อกองทะเบียนประวัติอาชญากร กองกำกับการตำรวจวิทยาการเขต และวิทยาการจังหวัด ได้รับรายงานตำหนิรูปพรรณคนหายหรือได้คืนแล้ว ให้ดำเนินการออกประกาศโฆษณา หรือแจ้งถอนประกาศโดยรีบด่วน และให้มีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่รับแจ้งคนหายเพื่อให้ได้ทราบถึงผลการสืบสวนติดตามและเพื่อความแน่ชัดถึงสาเหตุแห่งการหายและได้คืน ตลอดจนผล
             ข้อ ๔๐๙  ประกาศสืบหาคนหายทุกฉบับที่ได้มีการออกประกาศสืบหาตัวนั้น ให้หัวหน้าหน่วยที่ใด หรือที่ชุมนุมชน เช่น สถานีรับส่งผู้โดยสารรถ หรือเรือ เป็นต้น

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี การติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนาม

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสนับสนุน
การปฎิบัติงานติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนาม พ.ศ.2558  (โดยย่อ)

             “คนหาย” หมายความว่า บุคคลที่หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่สามารถติดต่อได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง หรือไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
             “ศพนิรนาม” หมายความว่า ศพหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ ที่ทำให้เชื่อหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลใดเสียชีวิต โดยไม่สามารถระบุได้ว่าศพหรือชิ้นส่วนอวัยวะเป็นบุคคลใด
             “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐซึ่งตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้ง ติดตามสืบสวนสอบสวน หรือพิสูจน์ เกี่ยวกับคนหายและศพนิรนาม
             “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม
            ให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนามเรียกโดยย่อว่า (ค.พ.ศ.)
            เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ได้รับแจ้งว่ามีคนหาย ให้หน่วยงานของรัฐนั้น แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงาน ทราบโดยเร็ว
            ในกรณีที่มีผู้มาแจ้งต่อสำนักงานว่ามีคนหาย ให้สำนักงานรีบจัดเก็บข้อมูลนั้น และจัดส่งตัวผู้แจ้งพร้อมข้อมูลดังกล่าวไปยังสถานีตำรวจใกล้เคียงทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
            เมื่อหน่วยงานของรัฐแห่งใดได้พบตัวคนหายแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐนั้นรีบแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานทราบโดยเร็ว เพื่อจำหน่ายชื่อบุคคลนั้นออกจากข้อมูลคนหาย
            ในกรณีที่สำนักงานเป็นผู้พบตัวคนหายก่อน ให้สำนักงานรีบจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวและจัดส่งตัวบุคคลที่พบพร้อมข้อมูลนั้นไปยังสถานีตำรวจใกล้เคียงทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และให้สำนักงานแจ้งการพบตัวคนหายต่อหน่วยงานของรัฐที่ได้รับแจ้งคนหาย
            เมื่อหน่วยงานของรัฐใดได้รับแจ้งว่ามีการพบศพนิรนาม ให้หน่วยงานของรัฐนั้นแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานทราบโดยเร็ว
            ในกรณีที่มีผู้มาแจ้งต่อสำนักงานว่ามีการพบศพนิรนาม ให้สำนักงานรีบจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวและจัดส่งตัวผู้แจ้งพร้อมข้อมูลนั้นไปยังสถานีตำรวจใกล้เคียงทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
            ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐใด ไม่สามารถระบุได้ว่าศพนิรนามเป็นบุคคลใด หรือศพนิรนามที่ต้องทำการตรวจพิสูจน์มีจำนวนมาก หน่วยงานของรัฐนั้นอาจร้องขอให้สำนักงานเป็นผู้ดำเนินการตรวจพิสูจน์ศพนิรนามดังกล่าวก็ได้
            เมื่อสำนักงานได้ตรวจพิสูจน์ศพนิรนามดังกล่าวแล้ว สามารถระบุได้ว่าเป็นบุคคลใด ให้สำนักงานรีบจัดเก็บข้อมูลที่ตรวจพิสูจน์ได้และแจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อหน่วยงานของรัฐที่ร้องขอทราบทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
            เพื่อประโยชน์ในการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม ให้สำนักงานแจ้งข้อมูลการดำเนินการเกี่ยวกับศพให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบด้วย และให้สำนักงานและสำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานงานกันในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับคนหายและศพนิรนาม
            หลักเกณฑ์วิธีการและแบบในการแจ้งการจัดเก็บการรวบรวมการประสานข้อมูลและการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับคนหายหรือศพนิรนามให้เป็นไปตามที่ ค.พ.ส. ประกาศกำหนด

สรุป.-  หน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับคนหาย แจ้งการพบตัวคนหาย และแจ้งการพบศพนิรนาม ให้สำนักงานทราบ หรือรับแจ้งการพบตัวคนหายจากสำนักงาน หรือร้องขอให้สำนักงานเป็นผู้ดำเนินการตรวจพิสูจน์ศพนิรนาม และรับแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ศพนิรนามได้ว่าเป็นบุคคลใด จากสำนักงาน
            สถานีตำรวจใกล้เคียง มีหน้าที่ รับข้อมูลพร้อมตัวผู้แจ้งคนหาย รับข้อมูลพร้อมตัวผู้พบตัวคนหาย และรับข้อมูลพร้อมตัวผู้พบศพนิรนาม จากสำนักงาน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
-  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนาม พ.ศ.๒๕๕๘ (ดูที่นี่)
-  คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๗๒๕/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๗ ธ.ค.๒๕๕๘ เรื่อง ศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศบคน.ตร) (ดูที่นี่)

การปฏิบัติเมื่อได้รับแจ้งเหตุคนหายพลัดหลง

แนวทางการปฏิบัติเมื่อได้รับแจ้งเหตุคนหลายพลัดหลง

               1.  เมื่อมีผู้มาแจ้งความเกี่ยวกับคนหายคนพลัดหลง ให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับแจ้งเหตุต้องให้ความสำคัญและตอบสนองดำเนินการในทันที ห้ามมิให้ยกเหตุอ้างว่าต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมงก่อน โดยสอบถามรายละเอียดในเบื้องต้นจากผู้แจ้งและ/หรือพยาน แล้วรีบแจ้งศูนย์วิทยุเครือข่ายในสังกัดและหน่วยข้างเคียง (เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจรถไฟกองบังคับการปราบปราม ฯลฯ) ออกอากาศร่วมช่วยสังเกตติดตามหรือแจ้งสกัดจับคนร้าย ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานที่เกิดเหตุโดยมิชักช้า แล้วแจ้งข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่งานสายตรวจ งานสืบสวน ช่วยติดตามสืบหา
              2.  จัดทำแบบรายงานที่เกี่ยวข้องกับคนหายพลัดหลง มีดังนี้
                   -  แบบแจ้งรูปพรรณคนหาย (วท.12/1)
                   -  แบบแจ้งการได้ตัวคนหายคืน (วท.12/2-ต.326)
                   -  แบบการสืบสวนติดตามคนหาย (วท.12/3-ต.326)
                   -  แบบรายงานแจ้งคนหายเบื้องต้น (ศบคน-1)
                   -  แบบรายงานแจ้งได้ตัวคนหายคืน (ศบคน-2)
             3.  การกรอกข้อความในแบบรายงาน
                  -  ให้พิมพ์ข้อความต่าง ๆ ลงในช่องที่กำหนดไว้ให้ครบถ้วนและถูกต้อง โดยใช้พิมพ์ดีด แล้วลงชื่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน
                  -  การกรอกตำหนิรูปพรรณคนหาย ให้กรอกข้อความให้ละเอียดเพียงพอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือบุคคลที่พบเห็นจะมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้น เป็นบุคคลที่ได้รับแจ้งหายไว้
                  -  การกรอกแบบตำหนิรูปพรรณคนหาย (วท.12/1-ต.326) ให้พนักงานสอบสวนกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนของคนหาย กรณีคนหายเป็นชาวต่างประเทศให้กรอกเลขหนังสือเดินทาง ประเทศ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ไว้ที่มุมบนขวาของแบบรายงานดังกล่าว รวมทั้งให้จัดส่งรูปถ่ายครั้งสุดท้ายของคนหายส่งมาพร้อมแบบแจ้งรูปพรรณคนหายด้วย เพื่อประโยชน์ในการติดตามหาตัวคนหาย
             4.  การจัดส่งแบบรายงานและการบันทึกข้อมูลคนหาย
                  -  เมื่อมีผู้มาแจ้งความเกี่ยวกับคนหาย คนพลัดหลง ให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดส่งแบบรายงานข้อมูลรับแจ้งเหตุคนหายพลัดหลง (ศบคน-1) มายังผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร/เลขานุการ ศูนย์บริการจัดการคนหายและศพนิรนาม ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่ได้รับแจ้ง ต่อมาภายหลังหากสามารถติดตามคนหายพบแล้วให้รายงานเพิ่มเติมตามแบบรายงานการรับแจ้งคนหายได้คืน (ศบคน-2) ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่พบตัว
                  -  ให้หัวหน้าสถานีตำรวจแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม/เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม ทราบอีกส่วนหนึ่งด้วย
                 -  ให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการบันทึกข้อมูลคนหายพลัดหลงในระบบสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากสามารถติดตามคนหายพลัดหลงพบแล้ว ให้รีบดำเนินการถอนข้อมูลคนหายพลัดหลงที่ได้บันทึกในระบบสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่พบตัว
               5.  หน้าที่ของสถานีตำรวจ
                     - กรณีสถานีตำรวจได้รับแจ้งเบาะแสบุคคลสูญหาย จากศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม ซึ่งเป็นข้อมูลคนหายที่ประชาชนโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือมายังศูนย์รับแจ้งข้อมูลข่าวสาร 1599 ให้พนักงานสอบสวนที่ได้รับมอบหมาย ประสานรายละเอียดกลับไปยังผู้แจ้ง โดยให้แนะนำให้ผู้แจ้งมาลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว ดำเนินการบันทึกข้อมูลคนหายพลัดหลงในสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
                    -  ถ้าการสอบสวนรับแจ้งนั้นมีเหตุอันควรสงสัยหรือเชื่อมั่นว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง ให้ทำการสอบสวนมูลกรณีโดยละเอียดและรายงานด่วนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผ่านกองบังคับการตำรวจสันติบาล) เพื่อพิจารณาสั่งการให้ดำเนินการสืบสวนติดตามเป็นกรณีพิเศษ
                    -  ถ้าผู้แจ้งสงสัยว่าคนหายจะถูกทำร้ายถึงตาย หรือตายด้วยเหตุอื่น ๆ พนักงานสอบสวนสามารถดูรูปถ่ายตำหนิ รูปพรรณของคนตายไม่ทราบชื่อได้จาก website : missingperson.police.go.th ของศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม
                    -  ให้หัวหน้าสถานีตำรวจมอบหมายรองหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบงานสืบสวนเป็นผู้รับผิดชอบงานศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนามในระดับสถานีตำรวจ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสั่งงาน ประสานการปฏิบัติติดตามคนหาย และหมั่นไปติดต่อเยี่ยมเยียนเป็นระยะ ๆ โดยให้มีรายละเอียดวันเดือนปี ที่สืบสวนติดตาม และได้ไปเยี่ยมเยียนสอบถามกับผู้ใด โดยให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อในบันทึกการสืบสวนติดตาม เป็นหลักฐานด้วย
                    -  ให้พนักงานสอบสวนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนติดตามคนหาย จัดทำบันทึกการสืบสวนบุคคลสูญหาย โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้สูญหาย แนวทางการสืบสวนติดตามที่ได้ดำเนินการไว้ และให้มีการส่งมอบบันทึกการสืบสวนฯ ดังกล่าวให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคนใหม่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตำแหน่งหรือเปลี่ยนแปลงงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้การสืบสวนติดตามมีความต่อเนื่องแล้วรายงานผลการสืบสวนติดตามมายังกองทะเบียนประวัติอาชญากร ภายในระยะเวลาที่กำหนด
                   -  ให้ทุกสถานีตำรวจจะทำสมุดสารบบคนหาย ตามแบบแนบท้ายหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 0011.22 /1227 ลง 30 มีนาคม 2555 จัดเก็บไว้ที่สถานีตำรวจ พร้อมกับจัดทำแฟ้มเก็บรวบรวมรายงานตำหนิรูปพรรณคนหายและรายงานการได้ตัวคนหายคืน เพื่อการตรวจสอบค้นหาและเป็นข้อมูลสนับสนุนการทำงานของศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม
                  -  ให้พนักงานสอบสวนรายงานผลการสืบสวนติดตามมายังผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร/เลขานุการศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม ภายในระยะเวลาที่กำหนด
              6.  การปฏิบัติหลังพบตัวคนหาย
                   -  กรณีที่ติดตามพบตัวคนหาย หรือมีผู้มาแจ้งว่าได้พบตัวคนหายแล้ว ด้วยประการใดก็ตาม ให้พนักงานสอบสวนซักถามถึงสาเหตุที่หายไปอย่างแท้จริง ตลอดจนการใช้ชีวิตระหว่างที่หาย และให้ทำการอบรมสั่งสอนไม่ให้หลบหนีไปอีก แล้วให้รีบดำเนินการถอนข้อมูลคนหายพลัดหลงที่ได้บันทึกในระบบสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่พบตัว โดยให้รายงานตามแบบรายงานได้ตัวคนหายพลัดหลงคืน (ศบคน-2) มายังผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร/เลขานุการศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่พบตัว รวมทั้งแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม/เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม ทราบอีกส่วนหนึ่งด้วย

(ที่มา : ผนวก จ. แนวทางการปฏิบัติประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 725 / 2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558)

แนวทางการปฏิบัติของ พงส. กรณีศพนิรนาม

กรณีศพนิรนาม

            การปฏิบัติของพนักงานสอบสวน
            1.  การชันสูตรพลิกศพ
                 -  แจ้งกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง หรือกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ที่รับผิดชอบ แล้วแต่กรณีทราบ เพื่อร่วมกับพนักงานสอบสวนไปทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ถ่ายภาพศพ ตรวจเก็บร่องรอยวัตถุพยานต่าง ๆ พร้อมทั้งถ่ายภาพไว้ การถ่ายภาพศพต้องให้ได้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นตำหนิรูปพรรณพิเศษ เช่น รอยสัก แผลเป็นหรือความพิการต่าง ๆ
                 -  ประสานแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ เพื่อจะเก็บตัวอย่างเลือด หรือสารคัดหลั่ง หรือสิ่งที่จะใช้ตรวจสารพันธุกรรม (DNA) จากศพที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ส่งไปยังศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เวชวิทยา ทุกราย โดยระบุไว้หน้ากล่องพัสดุไปรษณีย์ว่า "ตัวอย่างดีเอ็นเอ"
                 -  จดตำหนิรูปพรรณศพ และบันทึกทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย พร้อมภาพถ่ายศพ ส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อบันทึกข้อมูลและออกประกาศ
                 -  ถ่ายภาพเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย และเก็บรักษาทรัพย์สิน โดยให้นำระเบียบการเก็บรักษาของกลางมาใช้โดยอนุโลม เพื่อมอบแก่ทายาทหรือญาติผู้ตาย
            2.  การจัดทำแบบรายงานที่เกี่ยวข้องกับศพนิรนาม มีดังนี้
                 -  แบบข้อมูลรับแจ้งเหตุนิรนาม (ศบคน-3)
                 -  แบบรายงานการพิสูจน์ทราบบุคคล (ศบคน-4)
                 -  แบบรายงานพบศพไม่ทราบชื่อ (วท.13-ต.327)
            3.  การจัดส่งแบบรายงาน
                 -  เมื่อมีผู้มาแจ้งความพบศพนิรนาม หรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ ที่ทำให้เชื่อหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลเสียชีวิตโดยไม่สามารถระบุได้ว่าศพหรือชิ้นส่วนอวัยวะเป็นผู้ใด ให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดส่งแบบรายงานข้อมูลการรับแจ้งศพนิรนาม (ศบคน-3) มายังผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร/เลขานุการศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่ได้รับแจ้ง ต่อมาภายหลังหากสามารถระบุได้ว่าผู้ตายเป็นใครแล้วให้รายงานเพิ่มเติมตามแบบรายงานการพิสูจน์ทราบบุคคล (ศบคน-4) ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันที่ทราบชื่อ
                 -  นอกเหนือจากการรายงานข้อมูลรับแจ้งคนหายดังกล่าวแล้ว ให้หัวหน้าสถานีตำรวจแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม/เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม ทราบอีกส่วนหนึ่งด้วย
                 -  ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ 10 นิ้วของผู้ตาย จำนวน 3 ฉบับ ติดสำนวนการสอบสวน และสำเนาสำนวนการสอบสวน 2 ฉบับ แล้วส่งไปตรวจสอบยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร 1 ฉบับ โดยให้จัดส่งในวันที่พิมพ์ลายนิ้วมือหรือในวันรุ่งขึ้น

การจัดการศพ
             หลังจากที่ได้มีการพิสูจน์ศพแล้ว พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการ ดังนี้
              1. กรณีเป็นศพที่พิสูจน์ทราบว่าผู้ตายเป็นใครแล้ว ถ้ามีทายาท ญาติ หรือผู้มีสิทธิ มาติดต่อขอรับศพไปจัดการตามประเพณี ก็ให้พนักงานสอบสวนมอบศพให้ทายาท ญาติ หรือผู้มีสิทธิ หลังจากที่ได้มีการ ตรวจสอบความสัมพันธ์เกี่ยวข้องจนแน่ชัดแล้ว ให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานและลงนามร่วมกัน
              2. กรณีเป็นศพที่ไม่มีทายาท ญาติ หรือผู้มีสิทธิ มาติดต่อขอรับศพ หรือเป็นศพที่ยังไม่ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร เมื่อรักษาศพไว้ ณ สถานที่ชันสูตรศพอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วัน แล้วให้แจ้งเทศบาลท้องถิ่น สมาคม หรือมูลนิธิเพื่อการนี้ รับศพไปจัดการเก็บที่สุสานและให้ดำเนินการดังนี้
                  -  ให้จัดทำสมุดทะเบียนส่งศพฝังโดยมีรายละเอียดตามแบบแนบท้ายหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 0011.22 / 3933 ลง 7 ตุลาคม 2554
                  -  ประสานเทศบาล ท้องถิ่น สมาคมหรือมูลนิธิเพื่อการนี้ กำหนดหมายเลขหลุมฝังศพ
                  -  จัดทำแผ่นป้ายชื่อศพ ถ้าศพยังไม่มีชื่อหรือยังไม่ทราบชื่อก็ให้เขียนว่าศพ "ชาย" หรือ "หญิง" เท่าที่จะทำได้ วันที่ส่ง หมายเลขหลุมฝังศพ เหตุตาย โดยติดไว้ที่ด้านหน้าของหลุมศพแล้วถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน
                  -  ให้ผู้เกี่ยวข้องจัดการห่อศพให้เรียบร้อย พร้อมทั้งจัดทำป้ายชื่อศพ (ถ้าศพยังไม่มีชื่อหรือยังไม่ทราบชื่อให้เขียนว่าศพ "ชาย" หรือ "หญิง" เท่าที่จะทำได้) หมายเลขศพติดไว้บนผ้าห่อศพและตัวศพ จากนั้นจึงส่งมอบศพไปเก็บยังสุสาน
                  -  เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบว่าผู้ตายเป็นใครแล้ว ให้แจ้งกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทราบ พร้อมแนบสำเนาใบมรณบัตรเพื่อถอนประกาศสืบหา
              3. พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องรีบดำเนินการสืบสวนให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร รวมทั้งให้มีความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์บริการบริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม เมื่อได้รับการประสานโดยเฉพาะข้อมูลศพไม่ทราบชื่อ และการคืนศพให้แก่ญาติที่มาขอรับศพไปจัดการตามประเพณีซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบย้ายไปอยู่สังกัดอื่นหรือไม่สามารถติดต่อได้ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าพนักงานสอบสวนในการดำเนินการแทน

              (ที่มา : ผนวก จ. แนวทางการปฏิบัติประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 725/2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558)