วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี กรณีคนหายพลัดหลง

                                             การดำเนินการเกี่ยวกับคนหายพลัดหลงและได้คืน

              วิธีดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับคนหายพลัดหลงให้ปฏิบัติดังนี้
              ข้อ ๔๐๕  เมื่อมีผู้มาแจ้งความเกี่ยวกับคนหายพลัดหลง ให้ผู้มีหน้าที่รับแจ้งรีบดำเนินการรับแจ้งลงไปรายงานประจำวัน หรือบันทึกข้อความไว้เป็นหลักฐาน แล้วจัดการกรอกข้อความลงในรายงานตำหนิรูปพรรณคนหายทันที ตามแบบ วท.๑๒/๑-ต.๓๒๖ ท้ายระเบียบนี้ พร้อมกับให้ซักถามสาเหตุแห่งการหายจากผู้แจ้งให้ได้ความละเอียดชัดเจน แล้วจัดการต่อไปนี้
              ก.  หน่วยงานที่มีหน้าที่รับแจ้งภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้รีบติดต่อแจ้งเรื่องราวของคนหายพลัดหลงไปยังกองกำกับการรถวิทยุ และศูนย์รวมข่าว และกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรีเพื่อดำเนินการติดตามค้นหา แล้วให้ออกรายงานตำหนิรูปพรรณคนหายนี้ จำนวน ๒ ฉบับ เก็บรวมเรื่องเข้าเล่มไว้ ณ รับแจ้ง ๑ ฉบับ ส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากร ๑ ฉบับ
              ข.  หน่วยงานที่มีหน้าที่รับแจ้งในเขตจังหวัดอื่น ให้ออกรายงานนี้ ๔ ฉบับ เก็บรวมเรื่องไว้ ณ ที่แจ้ง ๑ ฉบับ ส่งวิทยาการจังหวัด ๑ ฉบับ กองกำกับการตำรวจวิทยาการ เขต ๑ ฉบับ และกองทะเบียนประวัติอาชญากร ๑ ฉบับ
            ค.  การส่งรายงานตำหนิรูปพรรณคนหาย ให้จัดการส่งไปทันที พร้อมด้วยรูปถ่าย (ถ้ามี) ให้พนักงานสอบสวนหรือผู้รับแจ้งลงชื่อรับรองไว้หลังรูปถ่าย และบันทึกว่าถ่ายเมื่อ วัน เดือน ปีใด และให้แนะนำกับผู้แจ้งด้วยว่า ถ้าได้ตัวคนหายคืนมาแล้วให้รีบแจ้งถอนที่สถานีตำรวจที่ใกล้เคียงเพื่อแจ้งกองทะเบียนประวัติอาชญากรทราบและปฏิบัติตามระเบียบต่อไป
            ข้อ ๔๐๖  ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าคนหายหลัดหลงนั้นถูกล่อลวง ลักพาไป ให้รีบจัดตำรวจออกติดตามตลอดจนดำเนินการใช้เครื่องมือสื่อสารติดต่อกับตำรวจท้องที่ ตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ สกัดค้นตามด่านใกล้เคียง หรือสกัดที่เป็นปลายทางที่ยานพาหนะจะผ่านไปโดยด่วน
             ถ้าการสอบสวนรับแจ้งนั้นมีเหตุอันควรสงสัย หรือเชื่อมั่นว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง นอกจากดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ทำการสอบสวนมูลกรณีโดยละเอียด และรายงานด่วนเป็นหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๒ ชุด เพื่อพิจารณาสั่งการให้ตำรวจสันติบาลดำเนินการสืบสวนสอบสวนติดตามเป็นพิเศษต่อไป ในการดำเนินการสอบสวนจะติดต่อผู้บังคับการตำรวจสันติบาลไปร่วมการสอบสวน หรือส่งตัวผู้แจ้งไปให้ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลสอบสวน แล้วแต่กรณี และเฉพาะรายก็ได้ เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้รายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบอีกครั้งหนึ่ง
             ข้อ ๔๐๗  ถ้าผู้แจ้งสงสัยว่าคนหายจะถูกทำร้ายถึงตาย หรือตายด้วยเหตุอื่น ๆ ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้แจ้งไปดูรูปถ่ายตำหนิรูปพรรณของคนตายไม่ทราบชื่อที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร กองกำกับการตำรวจวิทยาการเขต หรือวิทยาการจังหวัด แล้วแต่กรณี
             ข้อ ๔๐๘  ให้สารวัตรใหญ่ สารวัตร ผู้บังคับกอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ สั่งมอบหมายตำรวจสถานีคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบสืบสวนติดตามหาตัวคนหาย โดยให้ไปรู้จักกับบ้านผู้แจ้งหรือผู้ปกครองคนหายและหมั่นไปติดต่อเยี่ยมเยียนเป็นระยะ ๆ ทุก ๗ วัน  ๑๕ วัน  ๑ เดือน  ๒ เดือน และ ๓ เดือน เมื่อครบกำหนด ๓ เดือนแล้ว หากยังไม่ทราบหรือได้ตัวคนหายคืน ให้สารวัตรใหญ่ สารวัตร ผู้บังคับกอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ รายงานผลแห่งการไปติดต่อเยี่ยมเยือนตามแบบ วท.๑๒/๓-ต. ท้ายระเบียบนี้ ไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำหรับส่วนภูมิภาคนั้น ให้รายงานไปยังกองกำกับการตรวจวิทยาการเขต และวิทยาการจังหวัดอีกด้วย เมื่อกองทะเบียนประวัติอาชญากร กองกำกับการตำรวจวิทยาการเขต และวิทยาการจังหวัด ได้รับรายงานตำหนิรูปพรรณคนหายหรือได้คืนแล้ว ให้ดำเนินการออกประกาศโฆษณา หรือแจ้งถอนประกาศโดยรีบด่วน และให้มีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่รับแจ้งคนหายเพื่อให้ได้ทราบถึงผลการสืบสวนติดตามและเพื่อความแน่ชัดถึงสาเหตุแห่งการหายและได้คืน ตลอดจนผล
             ข้อ ๔๐๙  ประกาศสืบหาคนหายทุกฉบับที่ได้มีการออกประกาศสืบหาตัวนั้น ให้หัวหน้าหน่วยที่ใด หรือที่ชุมนุมชน เช่น สถานีรับส่งผู้โดยสารรถ หรือเรือ เป็นต้น

             ข้อ ๔๑๐  เมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือมีผู้นำคนพลัดหลงมาส่งยังหน่วยงานใด ให้ลงรายงานประจำวันรับตัวไว้ แล้วจัดการตรวจสอบกับประกาศสืบค้นหาคนหายว่าตรงกับรายที่มีผู้ใดแจ้งหายไว้บ้างหรือไม่
                  (๑)  ถ้าปรากฏว่าตรงกับรายที่รับแจ้งหายไว้ ให้จัดตำรวจนำตัวส่งไปยังหน่วยงานที่รับแจ้งหายนั้นเพื่อดำเนินการติดต่อกับผู้ปกครองหรือญาติให้มารับตัวโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
                      ก.  ในกรุงเทพมหานคร ถ้าคนหายพลัดหลงมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตของสถานีตำรวจใด ให้เป็นหน้าที่ของตำรวจสถานีนั้น นำคนหายพลัดหลงส่งคืนผู้ปกครอง หากคนหายพลัดหลงมีภูมิลำเนาอยู่ในส่วนภูมิภาค ให้นำส่งกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน หากอายุเกิน ๑๗ ปี ให้นำส่งกรมประชาสงเคราะห์
                     ข.  ในส่วนภูมิภาค ถ้าคนหายหลัดหลงมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดนั้น ให้ตำรวจสถานีที่รับตัวเป็นผู้นำส่งผู้ปกครอง หรือตำรวจสถานีที่คนหายพลัดหลงมีภูมิลำเนาอยู่แล้วแต่กรณี หากมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น ให้นำส่งยังสถานีตำรวจที่คนหายพลัดหลงมีภูมิลำเนาอยู่ แล้วรายงานให้ผู้กำกับการทราบ ก่อนนำส่งตำรวจสถานีที่ได้รับตัวหรือพบคนหายพลัดหลง วิทยุหรือติดต่อกับสถานีตำรวจที่คนหายพลัดหลงมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อติดต่อหรือแจ้งให้ผู้ปกครองไปรับตัวคนหายพลัดหลง
             หากผู้ปกครองไปรับไม่ได้หรือขัดข้อง ให้ตำรวจสถานีที่คนหายพลัดหลงมีภูมิลำเนาอยู่วิทยุหรือแจ้งข้อขัดข้องให้ทราบ เพื่อให้ตำรวจสถานีที่ได้รับหรือพบตัวคนหายพลัดหลงนั้นจัดตำรวจนำส่ง ระหว่างการติดต่อให้นำคนหายพลัดหลงไปฝากไว้ที่หน่วยงานของกรมประชาสงเคราะห์เป็นการชั่วคราว
                 (๒)  ถ้าปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานได้รับแจ้งหายไว้ ก่อนดำเนินการใด ๆ ให้นำตัวคนหายพลัดหลงไปยังกองทะเบียนประวัติอาชญากร กองกำกับการตำรวจวิทยาการเขต หรือวิทยาการจังหวัดแล้วแต่กรณี เพื่อถ่ายรูปและจดตำหนิรูปพรรณออกประกาศโฆษณาสืบหาผู้ปกครองหรือญาติ
              คนหายพลัดหลงที่ได้ดำเนินการตามกล่าวข้างต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากไม่สามารถนำส่งผู้ปกครองหรือญาติ ให้นำตัวส่งกรมประชาสงเคราะห์ ประชาสงเคราะห์จังหวัด หรือประชาสงเคราะห์อำเภอที่ใกล้เคียง เพื่อให้ความอนุเคราะห์คุ้มครองต่อไป ระหว่างที่ดำเนินการดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนดูแลคนหลัดหลงไว้ที่สถานีตำรวจไม่เกิน ๒๔  ชั่วโมง
            ข้อ ๔๑๑  ในกรณีที่ติดตามตัวพบคนหายหรือมีผู้มาแจ้งว่าได้พบตัวคนหายแล้วด้วยประการใดก็ตาม ให้พนักงานสอบสวนพยายามซักถามถึงสาเหตุที่หายไปอย่างแท้จริง ตลอดจนการใช้ชีวิตระหว่างที่หาย และให้ทำการอบรมสั่งสอนมีให้หลบหนีไปอีก ถ้าหากไม่สามารถที่จะซักถามหรืออบรมสั่งสอนแก่ตัวผู้หายได้ ก็ให้แนะนำแก่ผู้แจ้งหรือผู้ปกครองให้ดำเนินการอบรมสั่งสอนแทน แล้วจัดการกรอกข้อความลงในรายงานแจ้งผลการได้ตัวคืน ตามแบบ วท ๑๒/๒-ต.๓๒๖ และรีบส่งรายงานนี้ไปยังหน่วยงานตามที่ได้เคยแจ้งรายงานคนหายให้ทราบภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่วันที่ได้รับแจ้งพบตัวจัดการถอนประกาศต่อไป
             ข้อ ๔๑๒  ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร รวบรวมสถิติคนหายพลัดหลงและได้คืนทั่วราชอาณาจักรตามลำดับ กองบังคับการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยแบ่งเป็นชาย หญิง เด็ก และผู้ใหญ่  เฉพาะเด็กและเยาวชนให้แยกตามลำดับอายุ พร้อมด้วยข้อมูลต่าง ๆ จากรายงาน เสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบทุกระยะ ๖ เดือน คือ สิ้นเดือนมิถุนายน และสิ้นเดือนธันวาคมของปี เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาป้องกันและปราบปราม
             ให้สำนักงานสถิติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมดำเนินการตามวรรคต้น โดยอนุโลม
             ในโอกาสที่ผู้บังคับบัญชาไปตรวจราชการที่สถานีตำรวจใด ให้เรียกตรวจรูปพรรณคนหายของสถานีตำรวจนั้น เพื่อช่วยกำกับการติดตามสืบสวนหาตัวเด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่ได้คืน และให้บันทึกผลการตรวจไว้ในสมุดตรวจผู้ใหญ่ทุกครั้ง

(ที่มา : ประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๔ การออกตำหนิรูปพรรณบุคคลและทรัพย์  บทที่ ๓ การดำเนินการเกี่ยวกับคนหายพลัดหลง)