แนวทางการปฏิบัติเมื่อได้รับแจ้งเหตุคนหลายพลัดหลง
1.
เมื่อมีผู้มาแจ้งความเกี่ยวกับคนหายคนพลัดหลง ให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับแจ้งเหตุต้องให้ความสำคัญและตอบสนองดำเนินการในทันที ห้ามมิให้ยกเหตุอ้างว่าต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมงก่อน โดยสอบถามรายละเอียดในเบื้องต้นจากผู้แจ้งและ/หรือพยาน แล้วรีบแจ้งศูนย์วิทยุเครือข่ายในสังกัดและหน่วยข้างเคียง (เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจรถไฟกองบังคับการปราบปราม ฯลฯ) ออกอากาศร่วมช่วยสังเกตติดตามหรือแจ้งสกัดจับคนร้าย ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในสถานที่เกิดเหตุโดยมิชักช้า แล้วแจ้งข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่งานสายตรวจ งานสืบสวน ช่วยติดตามสืบหา
2.
จัดทำแบบรายงานที่เกี่ยวข้องกับคนหายพลัดหลง มีดังนี้
- แบบแจ้งรูปพรรณคนหาย (วท.12/1)
- แบบแจ้งการได้ตัวคนหายคืน (วท.12/2-ต.326)
- แบบการสืบสวนติดตามคนหาย (วท.12/3-ต.326)
- แบบรายงานแจ้งคนหายเบื้องต้น (ศบคน-1)
- แบบรายงานแจ้งได้ตัวคนหายคืน (ศบคน-2)
3.
การกรอกข้อความในแบบรายงาน
- ให้พิมพ์ข้อความต่าง ๆ ลงในช่องที่กำหนดไว้ให้ครบถ้วนและถูกต้อง โดยใช้พิมพ์ดีด แล้วลงชื่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน
- การกรอกตำหนิรูปพรรณคนหาย ให้กรอกข้อความให้ละเอียดเพียงพอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือบุคคลที่พบเห็นจะมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้น เป็นบุคคลที่ได้รับแจ้งหายไว้
- การกรอกแบบตำหนิรูปพรรณคนหาย (วท.12/1-ต.326) ให้พนักงานสอบสวนกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนของคนหาย กรณีคนหายเป็นชาวต่างประเทศให้กรอกเลขหนังสือเดินทาง ประเทศ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ไว้ที่มุมบนขวาของแบบรายงานดังกล่าว รวมทั้งให้จัดส่งรูปถ่ายครั้งสุดท้ายของคนหายส่งมาพร้อมแบบแจ้งรูปพรรณคนหายด้วย เพื่อประโยชน์ในการติดตามหาตัวคนหาย
4.
การจัดส่งแบบรายงานและการบันทึกข้อมูลคนหาย
- เมื่อมีผู้มาแจ้งความเกี่ยวกับคนหาย คนพลัดหลง ให้หัวหน้าสถานีตำรวจจัดส่งแบบรายงานข้อมูลรับแจ้งเหตุคนหายพลัดหลง (ศบคน-1) มายังผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร/เลขานุการ ศูนย์บริการจัดการคนหายและศพนิรนาม ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่ได้รับแจ้ง ต่อมาภายหลังหากสามารถติดตามคนหายพบแล้วให้รายงานเพิ่มเติมตามแบบรายงานการรับแจ้งคนหายได้คืน (ศบคน-2) ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่พบตัว
- ให้หัวหน้าสถานีตำรวจแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม/เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม ทราบอีกส่วนหนึ่งด้วย
- ให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการบันทึกข้อมูลคนหายพลัดหลงในระบบสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากสามารถติดตามคนหายพลัดหลงพบแล้ว ให้รีบดำเนินการถอนข้อมูลคนหายพลัดหลงที่ได้บันทึกในระบบสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่พบตัว
5.
หน้าที่ของสถานีตำรวจ
- กรณีสถานีตำรวจได้รับแจ้งเบาะแสบุคคลสูญหาย จากศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม ซึ่งเป็นข้อมูลคนหายที่ประชาชนโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือมายังศูนย์รับแจ้งข้อมูลข่าวสาร 1599 ให้พนักงานสอบสวนที่ได้รับมอบหมาย ประสานรายละเอียดกลับไปยังผู้แจ้ง โดยให้แนะนำให้ผู้แจ้งมาลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว ดำเนินการบันทึกข้อมูลคนหายพลัดหลงในสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
- ถ้าการสอบสวนรับแจ้งนั้นมีเหตุอันควรสงสัยหรือเชื่อมั่นว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง ให้ทำการสอบสวนมูลกรณีโดยละเอียดและรายงานด่วนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผ่านกองบังคับการตำรวจสันติบาล) เพื่อพิจารณาสั่งการให้ดำเนินการสืบสวนติดตามเป็นกรณีพิเศษ
- ถ้าผู้แจ้งสงสัยว่าคนหายจะถูกทำร้ายถึงตาย หรือตายด้วยเหตุอื่น ๆ พนักงานสอบสวนสามารถดูรูปถ่ายตำหนิ รูปพรรณของคนตายไม่ทราบชื่อได้จาก website : missingperson.police.go.th ของศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม
- ให้หัวหน้าสถานีตำรวจมอบหมายรองหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบงานสืบสวนเป็นผู้รับผิดชอบงานศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนามในระดับสถานีตำรวจ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสั่งงาน ประสานการปฏิบัติติดตามคนหาย และหมั่นไปติดต่อเยี่ยมเยียนเป็นระยะ ๆ โดยให้มีรายละเอียดวันเดือนปี ที่สืบสวนติดตาม และได้ไปเยี่ยมเยียนสอบถามกับผู้ใด โดยให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อในบันทึกการสืบสวนติดตาม เป็นหลักฐานด้วย
- ให้พนักงานสอบสวนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนติดตามคนหาย จัดทำบันทึกการสืบสวนบุคคลสูญหาย โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้สูญหาย แนวทางการสืบสวนติดตามที่ได้ดำเนินการไว้ และให้มีการส่งมอบบันทึกการสืบสวนฯ ดังกล่าวให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคนใหม่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายตำแหน่งหรือเปลี่ยนแปลงงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้การสืบสวนติดตามมีความต่อเนื่องแล้วรายงานผลการสืบสวนติดตามมายังกองทะเบียนประวัติอาชญากร ภายในระยะเวลาที่กำหนด
- ให้ทุกสถานีตำรวจจะทำสมุดสารบบคนหาย ตามแบบแนบท้ายหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 0011.22 /1227 ลง 30 มีนาคม 2555 จัดเก็บไว้ที่สถานีตำรวจ พร้อมกับจัดทำแฟ้มเก็บรวบรวมรายงานตำหนิรูปพรรณคนหายและรายงานการได้ตัวคนหายคืน เพื่อการตรวจสอบค้นหาและเป็นข้อมูลสนับสนุนการทำงานของศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม
- ให้พนักงานสอบสวนรายงานผลการสืบสวนติดตามมายังผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร/เลขานุการศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม ภายในระยะเวลาที่กำหนด
6.
การปฏิบัติหลังพบตัวคนหาย
- กรณีที่ติดตามพบตัวคนหาย หรือมีผู้มาแจ้งว่าได้พบตัวคนหายแล้ว ด้วยประการใดก็ตาม ให้พนักงานสอบสวนซักถามถึงสาเหตุที่หายไปอย่างแท้จริง ตลอดจนการใช้ชีวิตระหว่างที่หาย และให้ทำการอบรมสั่งสอนไม่ให้หลบหนีไปอีก แล้วให้รีบดำเนินการถอนข้อมูลคนหายพลัดหลงที่ได้บันทึกในระบบสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (POLIS) ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่พบตัว โดยให้รายงานตามแบบรายงานได้ตัวคนหายพลัดหลงคืน (ศบคน-2) มายังผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร/เลขานุการศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่วันที่พบตัว รวมทั้งแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม/เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม ทราบอีกส่วนหนึ่งด้วย
(
ที่มา : ผนวก จ. แนวทางการปฏิบัติประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 725 / 2558 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2558)